รีวิว Ready, Set, Love กับการพลาดโอกาสในการสื่อสาร

Reading Time: 2 minutes

รีวิว Ready, Set, Love | วันนี้จะมารีวิวหนังเรื่อง Ready, Set, Love ทางช่อง Netflix ที่เพิ่งออกไปไม่นานนี้ 

เรื่องย่อ Ready, Set, Love

Ready, Set, Love เป็นซีรี่ส์โรแมนติก-คอมเมดี้ของไทย

เมื่อโลกที่เกิดโรคระบาดทำให้จำนวนประชากรชายลดลงอย่างมากเลย ผู้ชายเลยเป็นที่ต้องการของผู้หญิงและรัฐบาล

เดย์เป็นผู้หญิงธรรมดาที่เป็นผู้โชคดีได้ไปเเข่งรายการเกมออกเดทของรัฐบาลสนับสนุน “Ready, Set, Love” รายการที่ผู้เข้าแข่งขันหญิงจะแข่งกันเพื่อได้เเต่งงานกับผู้ชาย 5 คน เเต่ระหว่างการเเข่งขันของรายการ ตัวละครก็ได้เจอความลับเเละความไม่เท่าเทียมที่ถูกผู้มีอำนาจควบคุมอยู่ 

รูป Poster จาก https://about.netflix.com/th/news/thai-rom-com-series-ready-set-love-premieres-february-15

สิ่งที่ชอบ

ต้องชมก่อนว่าซีรี่ส์นี้มีการลงทุน Production ยิ่งใหญ่ องค์ประกอบต่างๆของซี่รี่ส์ อย่างเช่น mood and tone ทำออกมาได้น่ารักเหมาะกับการเป็น rom-com ที่ไม่เครียดมากเกินไป ผู้ชมดูได้เพลินๆ ในส่วนนักเเสดงเราว่าเล่นได้ดีและน่ารักตามแบบของตัวละครแต่ละตัว รวมถึงเชื่อว่าคนดูรับรู้ได้ถึงความพยายามของทีมงานทุกคนที่ช่วยกันสร้างผลงานไทยแบบนี้ขึ้นมาเพื่อให้วงการหนังไทยก้าวไปสู่ตลาดกว้างๆ ทั่วโลกได้     

ตัวโครงของเรื่องกับการสื่อสารเกี่ยวกับการเสียดสีปัญหาทางเพศ

ตอนเเรกที่ได้ดู Teaser ก็เเอบคิดไว้ว่าซีรี่ส์ระดับนี้คงไม่ใช่เเค่สร้างโครงเรื่องขึ้นมาเพื่อความบันเทิงหรือสร้างเนื้อเรื่องแบบตื้นๆ ธรรมดาๆ อย่างเดียว คิดว่าคงจะมีการใส่องค์ประกอบเข้ามาเพื่อสะท้อนปัญหาสังคมบางอย่าง โดยเฉพาะหัวข้อความเท่าเทียมทางเพศ เหตุผลที่ทำให้มีความคาดหวังแบบนี้ก็คือ:

1) การที่ผู้จัดสร้างthemeเรื่องว่าเป็นสังคมที่ประชากรผู้หญิงมีมากกว่าผู้ชาย จนทำให้ผู้ชายถูกกลายเป็นคนล้ำค่าของคนทั้งประเทศเเละได้รับการดูเเลอย่างดีจากรัฐบาล ดังนั้นระบบของประเทศทุกอย่างจึงรันด้วยผู้หญิง—ซึ่งเราเห็นได้จากตั้งเเต่เปิดเรื่องที่เป็นเสียงภาคเป็นผู้หญิง, เจ้าหน้าที่ทุกคนเป็นผู้หญิง รวมไปถึงผู้คุมอำนาจใหญ่ที่ก็เป็นผู้หญิงเช่นกัน เราเลยคิดว่าผู้จัดคงใส่เนื้อเรื่องเกี่ยวกับเพศให้มันขัดหรือล้อเลียนกับสังคมจริงในปัจจุบัน

2) สร้างโครงเรื่องให้ผู้ชายมีน้อย ผู้หญิงทุกคนเลยมีความฝันที่จะได้เเต่งงานกับผู้ชาย เกิดการเเย่งชิงผู้ชายในผู้หญิงด้วยกันเองจนกระทั่งมีรายการเกมส์โชว์เกิดขึ้น—การปูโครงเรื่องซีรี่ส์เเบบนี้ตรงๆ สำหรับเราคิดว่ามันขัดกับยุคสมัยนี้ที่คนเริ่มตระหนักรู้ความอันตรายของบรรทัดฐานในสังคม จึงทำให้มีความหวังว่าจะได้เห็นอะไรใหม่ๆ ในเรื่องนี้มากขึ้นไปอีก เช่นการเล่นประเด็นเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศ หรือการ challenge gender norms อื่นๆ ในเชิงเสียดสี 

แต่พอดูซีรี่ส์จบเเล้วตกผลึกได้ว่า ผู้จัดได้ใส่ปัญหาหลายๆ อย่างในสังคมรวมไว้ในซีรี่ส์เรื่องเดียว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอิสระในการใช้ชีวิต, การถูกควบคุมโดยรัฐบาล, ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และปัญหาความเท่าเทียมทางเพศ (หรือเปล่า?)  ซึ่งถ้าพูดถึงการสะท้อนปัญหาความเท่าเทียมของสังคมระหว่างรัฐบาลเเละประชาชน เราว่าสื่อสารออกมาได้ดี อย่างเช่นการใช้คำว่า farm เป็นอุปมาของการที่ประชาชนถูกควบคุมโดยรัฐบาลหรือการทรีตมนุษย์ด้วยกันเองเหมือนเป็นสัตว์

ตั้งตาดูจนจบซีซั่น1 หวังว่าผู้เขียนจะใส่บทใหม่ๆ อะไรเข้ามาเสียดสีกับประเด็นความเท่าเทียมทางเพศในสังคม แต่พอดูจบก็ไม่ได้เห็นถึงข้อความสะท้อนใดๆ ที่จับความได้อย่างเดียวทั้งเรื่องคือสามารถสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพแค่เรื่องระบบอำนาจกดขี่ แต่ในเรื่องของท้าทายปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศในสังคมนั้นไม่ได้มีอะไรที่น่าสนใจ ซ้ำยังรู้สึกว่ายิ่งทำให้เกิดทัศนคติไม่ส่งเสริมเกี่ยวกับผู้หญิงมาขึ้นไปอีก 

ซีรี่ส์เรื่องนี้มีโอกาสใช้พื้นที่นี้พูดถึงปัญหาเรื่องเพศในสังคมที่เป็นอยู่ให้ลึกซึ้งเเละสะท้อนออกมาให้ชัดเจนได้ดีกว่านี้อีกมาก แต่กลับไม่ได้ใช้พื้นที่ในการสื่อสารได้ดีเท่าที่ควร

บริบททางสังคม

ถ้าลองดูจากบริบททางสังคมในเรื่องนี้: จำนวนผู้หญิงที่มีมากกว่าผู้ชายหลายเท่า เลยทำให้สงสัยว่าในเมื่อผู้จัดเลือกให้โครงสร้างในสังคมเป็นผู้หญิงที่มีอำนาจมากที่สุด สามารถตัดสินใจอะไรได้ทุกอย่างแล้ว ทำไมผู้จัดถึงยังสร้างตัวละครผู้หญิงให้กลับไปอยู่ในระบบของสังคมในชีวิตจริง ตามระบบบรรทัดฐานของสังคมปิตาธิปไตยอยู่อีก

ตัวอย่างนี้เห็นชัดๆ ได้จากเเม่ของชาเเนลที่ควบคุมว่าลูกจะต้องได้คบกับผู้ชายดีๆอย่างซันถึงจะมีครอบครัวที่สมบูรณ์เเบบ พยายามทำให้ลูกสาวได้แต่งงานกับผู้ชายที่เพอร์เฟค รวมถึงในตอนที่ชาเเนลคุยกับแม็กซ์ว่า “เเม่ชาเเนลไม่เคยดีใจที่ชาเเนลเกิดมาเป็นผู้หญิง” การกระทำและคำพูดของแม่ชาแนลซึ่งเป็นผู้กุมอำนาจทั้งหมด ดูไม่สมเหตุสมผลกับโครงสร้างทางสังคมที่ผู้จัดสร้างขึ้นแม้แต่น้อย

ในเมื่ออำนาจมันตกไปอยู่ในมือผู้หญิงแล้วแต่ตัวละครยังวนลูปอยู่ในความเป็นปิตาธิปไตย ไม่มีการแสดงถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงและความแตกต่างระหว่างโครงสร้างสังคมในซีรี่ส์และชีวิตจริงแม้แต่น้อย ตรงนี้เราว่าผู้จัดพลาดมากในการคำนึงถึงการสร้างมุมมองทางสังคมใหม่ๆ ในรูปแบบที่ผู้หญิงได้กลายเป็นผู้นำและเปลี่ยนแปลงระบบสังคมให้แตกต่างเพื่อท้าทายสังคมในชีวิตจริง

แม้จะอธิบายว่าบริบทนี้สร้างขึ้นเพื่อเสียดสีในสังคมจริง หรือเพราะอยากแสดงให้เห็นถึงความยากในการก้าวข้ามคุณค่า ความเชื่อของสังคมที่อยู่มายาวนาน แต่เรามองว่าเนื้อหาเรื่องโดยรวมก็ไม่มีใช้องค์ประกอบอื่นๆ มาสะท้อนให้เข้าใจปัญหาความเป็นจริงของสังคมได้น่าสนใจหรือมีประสิทธิภาพมากพอ — หลายประโยคที่เหมือนจะเสียดสีเลยฟังดูไม่มีความหมาย และยังบั่นทอนความเชื่อมั่นที่โครงสร้างสังคมสามารถเปลี่ยนให้เท่าเทียมมากขึ้นได้

สุดท้ายที่จับความได้จากตัวซีรี่ส์ (โดยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ) ก็ยังสื่อไปในทางที่เชื่อว่าธรรมชาติมนุษย์เราควรมีเพศผู้ชายเเละผู้หญิงเพื่อความอยู่รอดของสังคมและโลกใบนี้ ? การมีผู้ชายจะทำให้สังคมนี้ยั่งยืนขึ้นอย่างแน่นอน ?

จริงอยู่ว่าผู้จัดใส่ฉากความสัมพันธ์และความรักร่วมเพศเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นหญิงรักหญิงหรือชายรักชาย เเต่ถ้าดูจากการสร้างตัวละครเราว่าผู้จัดไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวละครกลุ่มนี้มากพอ อย่างเช่น ขาดการสร้างมิติตัวละครที่ลึกซึ้งหรือการที่ไม่ได้ใช้พื้นที่ซีรี่ส์ให้เป็นประสิทธิภาพเพื่อสะท้อนปัญหาความสัมพันธ์/ความรักรูปแบบต่างๆ ในสังคมจริง

(เอาความจริงมีหลายฉากที่รู้สึกเอื่อยๆ ถ้าเปลี่ยนฉากเหล่านั้นมาพูดถึงปัญหานี้ก็คงทำให้เนื้อหาเรื่องดูน่าสนใจเข้มข้นเยอะขึ้น)

และเพราะการขาดรายละเอียดของตัวละครเหล่านี้ ทำให้เราคิดว่าการใส่คู่ที่เป็นรักเพศเดียวกันเหมือนเอามาเติมให้มันดูมีอะไร เเค่ให้คนจิ้นฟินๆ เรียกยอดเอนเกจเม้นอย่างเดียวหรือเปล่า?

รูปจาก Netflix

— 

ไม่พูดถึงไม่ได้เลย คือเกมส์โชว์ของเรื่องนี้ ภายในเกมส์ผู้หญิงต้องต่อสู้กันเองเพื่อเอาชนะใจผู้ชายตัวเองจะได้เข้าไปอยู่ในสังคมที่ดีตามที่รัฐบาลโปรโมตไว้ อย่างที่บอกองค์ประกอบของเรื่องมันยังเข้มข้นและเชื่อมโยงไม่มากพอที่ให้คนดูเข้าใจแก่นหลักที่ชัดเจนการใช้ธีมแข่งขันแบบนี้เข้ามาเลยทำให้เกิดภาพเหมารวมที่สร้างความเสียหายเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของผู้หญิงด้วยกันเอง และทำลายค่านิยมผู้หญิงเกี่ยวกับความสามัคคี/ช่วยเหลือซึ่งกันเเละกัน (ex. women empowerment/sisterhood) หรือเเม้กระทั่งอาจสร้างทัศนคติเเย่ๆ ให้กับคนดูบางกลุ่มมากกว่าเดิม เช่น “ผู้หญิงเป็นพวกเอาชนะกันแค่เพื่อเเย่งผู้ชาย” , “ผู้หญิงสามารถทำทุกอย่างเพื่อได้ผู้ชาย” (มันมีจริงๆ นะ คนที่ยังคิดแบบนี้ 😓 )

  • การสร้างตัวละครผู้หญิงให้เป็นเพียงคู่แข่งในการแสวงหาความรัก ตอกย้ำความคิดที่ว่าคุณค่าของผู้หญิงถูกกำหนดโดยความสามารถในการดึงดูผู้ชาย 

เห็นได้ชัด ๆ อีพี 5 ฉากที่โบว์วี่ออกอาการโมโหชาเเนลที่เหมือนจะเเย่งคนพี่แม็กผู้ชายที่ตัวเองชอบไป “เรื่องผู้ชายอีโบว์วี่สู้ตาย” โบว์วี่พูดเอาไว้ก่อนที่จะวางแผนแก้แค้นโดนการฆ่าชาเเนลในเกมส์ ประโยคนี้เหมือนจะเป็นบทพูดเพื่อความสนุกขำขัน เเต่ฟังเข้าจริงเหมือนเป็นการstereotype สังคมการเเข่งขันของผู้หญิงด้วยกันเองเพื่อเเย่งผู้ชายเเบบในละครไทยปกติมากกว่า

เเม้ว่าตอนจบโบว์วี่ไม่ได้ฆ่ากับชาเเนลและกลับมาคืนดีกัน เเต่หนังไม่ได้เจาะลึกความขัดแย้งภายในของตัวละครที่ละเอียดมากพอ มันเลยเสียโอกาสในการอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างมิตรภาพของเพื่อนผู้หญิงด้วยกันเองในเชิงบวก เพื่อหักลบกับทัศนคติที่ได้สื่อไปในอีพีก่อนๆ หน้านี้ (การเหมารวมว่าผู้หญิงชอบแย่งชิงกัน)

การเสียดสีของ Gender Binary System ที่ดูไม่ค่อยเป็นผล

ในหนังมีการเเบ่งเเยกคำว่า gentleman and lady เเละ องค์ประกอบเสื้อผ้า: ผู้หญิงใส่สีชมพูเเละผู้ชายใส่สีฟ้า สามารถเข้าใจได้ว่าผู้เขียนอาจใช้การเเบ่งเเยกนี้เพื่อเสียดสีปัญหาการstereotypeในสังคมชีวิตจริง 

เเต่เราว่าจากบริบทของเรื่องทำให้การเสียดสีนี้สร้างความขัดเเย่งกันในตัวซีรี่ส์เอง

  • บริบทในซีรี่ส์ได้ใส่คู่รักร่วมเพศเเละไม่ได้มีฉากเเสดงถึงการต่อต้านรักร่วมเพศในสังคม

เพราะบริบทที่ปูแบบนี้การที่ผู้จัดเลือกใช้คำแบ่งแยกเเละการใช้สี มาเสียดสีปัญหาการเหมารวม ทำให้ทั้งเรื่องดูไม่มีความชัดเจน ในการสื่อสารว่าตกลง set standard หรือ norms ของสังคมในเรื่องเป็นยังไงกันแน่ – เอาง่ายๆ คือองค์ประกอบโดยรวมทั้งเรื่องมันไม่ค่อยสอดคล้องกัน เหมือนผู้จัดนึกอยากใส่อะไรที่เป็นประเด็นสังคมที่คนส่วนใหญ่มักพูดถึง ก็โยนๆ ใส่เข้ามา แต่ไม่ได้ศึกษาปัญหาที่นำเสนอให้ดีพอ จึงไม่ได้เชื่อมโยงปัจจัยทางสังคมต่างๆ ให้ทั้งซีรี่ส์สามารถสะท้อนปัญหาในสังคมจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากตรงนี้คิดว่าถ้าอยากลองเสนอสะท้อนปัญหาเรื่องเพศและการเหมารวม ควรใส่บริบทหรือเพิ่มองค์ประกอบหรือการบรรยายอื่นๆ เพื่อการสื่อสารให้สมบูรณ์เเบบมากขึ้น 

ตัวละคร

ความฝันของตัวละครผู้หญิงคือการได้เเต่งงานกับผู้ชาย ได้มีครอบครัวที่สมบูรณ์

ตัวละครโดยเฉพาะผู้หญิงที่เป็นคนลงเเข่งขาดความหลากหลายทางมิติ

ยกตัวอย่างเช่น ตัวละครหลักอย่างเดย์:

ตอนแรกผู้จัดสร้างตัวละครเดย์ให้เป็นคนที่ไม่สนใจเรื่องการหาคู่ แต่พอได้เจอพระเอกเลยเลือกชาเลนจ์กับระบบผู้คุมอำนาจโดยการแต่งงานกับพระเอก โอเคมันไม่ได้ผิดที่มนุษย์เราจะเลือกรักใครตอนไหนก็ได้ แต่จากในซีรี่ส์พอเดย์เจอพระเอกแล้ว รายละเอียดความลึกซึ้ง ความมีมิติของตัวละครมันถูกยัดไปให้พระเอกซันอย่างเดียว ทั้งที่ตัวละครเดย์มีอะไรให้ค้นหาถ่ายทอดให้กับคนดูผ่านการพัฒนาของตัวละคร แบบที่ไม่มีพระเอกมาเป็นปัจจัยในการตัดสินใจนู่นนี่นั่น ถ้าการพัฒนาของตัวละครเดย์มีเยอะขึ้นคงจะทำให้ซีรี่ส์ได้นำเสนอมุมมองต่างๆ ได้ครอบคลุมขึ้นไปอีก

อย่างที่บอกไปตอนต้นว่าผู้จัดสร้างผู้บรรยายเรื่อง, โครงเรื่อง, อำนาจทุกอย่างเป็นผู้หญิงปกครองทั้งหมด แต่ภายหลังกลับให้ซีนการพัฒนาตัวละครผู้หญิงหลักอย่างเดย์น้อยและไม่ลึกซึ้งเท่าตัวละครเอกอย่างพระเอกซัน (แอบขัดใจและเสียดายมาก ในเมื่อหยิบประเด็นนี้มาเล่นแล้วน่าจะทำให้มันสื่อสารได้ไกลกว่านี้)

อีกตัวอย่างหนึ่งคือความรักโรเเมนติกของชาเเนลเเละเเม็กซ์

ในฉากที่โบว์วี่เต้นรำกับเเม็กซ์ เเล้วหันไปมองชาเเนลพร้อมบอกเเม็กซ์ว่า “เห็นเข้มเเข็งเเบบนี้เเต่ข้างในโคตรอ่อนแอเลย” คือมันก็ไม่ผิดอีกนั่นแหล่ะที่ผู้หญิงหรือมนุษย์คนนึงจะรู้สึกอ่อนเเอได้ เเต่องค์ประกอบโดยรวมของฉากนั้น รวมถึงเสียงพื้นหลังที่ประกอบต่างๆ ทำให้รู้สึกผู้จัดตั้งใจสร้างให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองคนนี้ไปจบที่ว่า ผู้ชายอย่างเเม็กซ์สามารถปกป้องผู้หญิงอย่างชาเเนลได้ ซึ่งก็เป็นบทละครไทยๆ ทั่วไป แบบว่านางเอกหันมารักพระเอกเพราะเขาปกป้องฉันได้ ?

การพัฒนาตัวละครคู่นี้ยังออกไปทิศทางของความเป็นบรรทัดฐานและความคาดหวังทางเพศแบบเดิมๆ นั่นคือผู้หญิงมองว่าการมีความสุขได้คือการค้นหาความรักแบบโรแมนติก

เหมือนกับตัวละครเดย์เราว่าถ้าผู้จัดใส่มิติตัวละครชาแนล เหตุผลในการตัดสินใจอละการพัฒนาของตัวละคร ในแบบที่ไม่ต้องมีผู้ชายมาเกี่ยวข้องหรือทำให้ไขว้เขวคงจะช่วยสะท้อนบรรทัดฐานสังคมบางอย่างได้มากขึ้น

— 

อาจเป็นเพราะการใส่มิติของคาเเรคเตอร์ต่างๆ โดยเฉพาะผู้หญิง เเละการให้ความสำคัญกับตัวละครคู่ที่รักร่วมเพศที่ไม่มากพอเลยทำให้ขาดโอกาสเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเภทของความรักและความสัมพันธ์ พลาดโอกาสในการเสนอมุมมองใหม่ๆ หรือท้าทายความคาดหวังของผู้ชมและบรรทัดฐานของสังคม

ส่วนตัวรู้สึกว่ามันน่าจะสนุกและคนดูได้อะไรกลับไปมากขึ้นถ้าในเรื่องexploreมุมมองอื่นๆ ที่หลากหลาย เช่น การสร้างความซับซ้อนของตัวละคร, ความอิสระ/ความเป็นตัวเอง/เป้าหมายในชีวิตของตัวละครผู้หญิงแต่ละคนมากขึ้น ที่ไม่ใช่ว่าเรื่องจบได้แล้วเพราะชีวิตมีความสุขว่าได้เเต่งงานกับผู้ชายที่ตัวเองชอบอย่างเดียว

เราว่าถ้าซีรี่ส์ได้มีโอกาสเจาะลึกไปในเหตุผลเบื้องหลังตัวละครของโบว์วี่ที่ตอนจบเสียสละคนที่ตัวเองชอบให้เพื่อน เพราะเห็นถึงมิตรภาพของเพื่อนผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย หรือexploreมิติหรือการพัฒนาของตัวละครที่เป็นรักร่วมเพศให้มากขึ้นคงทำให้เนื้อหาของเรื่องมีความเข้มข้นเเละสื่อสารให้ผู้ชมและสะท้อนสังคมจริงได้มากขึ้น(มารอดูกันว่าซีซั่นหน้าจะเป็นอย่างไร)

รีวิวหนัง Ready set love

โดยสรุปแล้ว Ready, Set, Love

โดยสรุป  “Ready, Set, Love” ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของวงการซีรี่ส์ไทยที่มีคุณภาพด้านโปรดักชั่นต่างๆ เป็นซีรี่ส์ที่ทำให้คนดูรู้สึกสนุกเเละผ่อนคลาย รวมถึงได้มีการพยายามสอดเเทรกเนื้อหาการเสียดสีปัญหาสังคมด้านต่างๆ

บล้อคนี้เขียนขึ้นไม่ได้เเสดงถึงการไม่สนับสนุนวงการหนังไทย เเต่เป็นความคิดเห็นส่วนตัวหลังจากที่ได้ดูพร้อมกับความคาดหวังที่อยากให้หนังไทยไปไกลมากกว่าการดูเพื่อ “ความสนุก” อย่างเดียว เเม้ว่าจะซีรี่ส์นำเสนอว่าเป็นประเภทรอมคอมที่ให้ผู้ชมได้ดูผ่อนคลายไม่เครียดมาก แต่อย่างที่ทุกคนรู้ว่าสื่อบันเทิงทุกอย่างสุดท้ายแล้วมันไม่ใช่เพื่อความสนุกผ่อนคลายเท่านั้น เเต่มันยังเป็นเครื่องมือในการหล่อหลอมความคิดคนได้ โดยที่บางครั้งผู้เสพสื่อเองไม่ได้ตระหนัก

ถึงเเม้ว่าผู้จัดไม่ได้ยกปัญหาเรื่องเพศในสังคมมาเป็นข้อความหลักของเรื่องโดยตรง เเต่ในเมื่อมีการหยิบยกthemeสังคมที่ผู้หญิงกลายมาเป็นผู้ปกครองเเละการพยายามนำเสนอปัญหาทางความไม่เท่าเทียมทางเพศผ่านองค์ประกอบอื่นๆ จึงอยากเน้นย้ำให้ผู้สร้างเห็นถึงความสำคัญของการสร้างเนื้อหาความบันเทิงที่ใช้องค์ประกอบหรือบริบทจากชีวิตจริงว่าควรคำนึงถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อทัศนคติและความเข้าใจของผู้ชม รวมถึงความสำคัญของการศึกษาปัญหาเหล่านั้นให้ดีก่อน เพื่อสามารถสร้างความบันเทิงไปพร้อมกับความรู้ที่มีประสิทธิภาพให้กับผู้ชมและสังคมในอนาคต

ทุกคนสามารถ ดู Ready, Set, Love ได้ที่ https://www.netflix.com/watch/81634075

ถ้ามีใครมีความเห็นเหมือนต่างยังไงเเชร์กันได้นะคะ 

ยังไงก็ตามรอดูซีซั่นถัดไปค่ะ <3

รีวิว-Ready-Set-love
รีวิว Ready, Set, Love กับการพลาดโอกาสในการสื่อสาร
เนื้อหาภาพยนตร์
4
CGI
8
ตัวละคร
6
ความสนุก
5
เพลงประกอบ
8.5
Reader Rating0 Votes
0
6.3
taotaoinams
taotaoinams
Advocating for sustainable equity through dynamic storytelling and decolonial dialogue. A cultural and political studies student at University of Amsterdam.

Similar Articles

Comments

Leave a Reply

Instagram

ที่ปรึกษาการตลาด / จัดอีเว้นท์ / ที่ปรึกษากฎหมายธุรกิจ | ปรึกษา | กฎหมาย | ธุรกิจ การตลาด อีเวนต์

Most Popular